ในปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ (software) ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเราไปแล้ว แทบจะไม่มีใครไม่รู้จัก Facebook, Instagram หรือ Twitter ซึ่งเป็นสื่อสังคมขนาดใหญ่ ที่ผู้คนใช้กันทั่วโลก
สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาให้อยู่ทั้งในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน และแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์พกพา ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ เพียงแค่สัมผัสด้วยปลายนิ้ว
ฮาร์ดแวร์คืออะไร?
อุปกรณ์ที่มองเห็นและสามารถจับต้องได้ เราเรียกว่า ฮาร์ดแวร์ (hardware) เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด สมาร์ทโฟน และลำโพง เป็นต้น
ซอฟต์แวร์คืออะไร?
ซอฟต์แวร์ (software) หมายถึง สิ่งที่บรรจุอยู่ในอุปกรณ์ ฮาร์แวร์ต่าง ๆ และทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถทำงานได้ เช่น โปรแกรม MS. Word โปรแกรม MS. Excel เว็บไซต์ Facebook หรือ แอปพลิเคชันบนมือถือ เช่น เกมส์ แอปฯรายงานสภาพอากาศ แอปฯดูหนังฟังเพลง เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “ซอฟต์แวร์” เรามองเห็นซอฟต์แวร์ แต่ไม่สามารถจับต้องได้โดยตรง เราสัมผัสและใช้งานมันผ่าน “ฮาร์ดแวร์” ซึ่งหน้าตาสวย ๆ ที่เห็นนั้น อาจจะถูกสร้างขึ้นมาจากรูปภาพ หรือโค้ดโปรแกรมที่สลับซับซ้อน เพื่อควบคุมการทำงานต่าง ๆ ตามรูปแบบ ที่ีทีมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ออกแบบเอาไว้
นักพัฒนาซอฟต์แวร์คือใคร?
นักพัฒนาซอฟต์แวร์ คือ ผู้สร้างซอฟต์แวร์ขึ้นมา ตามความต้องการของผู้ใช้งาน หรืออาจจะเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนก็ได้ หรืออาจจะเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์เดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เราจะสร้างซอฟต์แวร์ได้อย่างไร?
ซอฟต์แวร์ เกิดขึ้นมาได้ โดยมีเบื้องหลังคือโค้ด (code) ภาษาต่าง ๆ ซึ่งใน 1 ซอฟต์แวร์ อาจจะมีภาษาในการพัฒนามากกว่า 1 ภาษา มีการผสมรวมกันกับเทคนิคและงานด้านกราฟฟิก ทำให้ซอฟต์แวร์มีทั้งความสวยงาม และเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้
การสร้างซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน มีภาษาให้เลือกใช้มากมายกว่าร้อยภาษา แต่ละภาษาล้วนมีจุดเด่น และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เราสามารถเลือกใช้ภาษาใด ๆ ก็ได้ เพื่อนำมาพัฒนาซอฟต์แวร์ เช่น Java, JavaScript, PHP, ASP.NET, Python และ Ruby เป็นต้น ในเว็บไซต์แห่งนี้เราเลือกภาษา Java เป็นหลัก ในการพัฒนาซอฟต์แวร์
5 ขั้นตอนสู่การเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์
การก้าวเข้าสู่โลกของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ มีขั้นตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. มีแรงบันดาลใจที่จะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาบนโลก
แรงบันดาลใจนี้ อาจจะเกิดขึ้นมาในลักษณะใดก็ได้ เช่น เมื่อเราได้ทดลองใช้งานโปรแกรมบางอย่าง และรู้สึกว่าอยากจะพัฒนาโปรแกรมแบบนี้ขึ้นมาใช้งานเองบ้าง หรือ บางครั้ง เมื่อเราได้ใช้งานโปรแกรมบางอย่างและรู้สึกว่าใช้ยากเกินไป เราจึงอยากจะเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อสร้างมันขึ้นมาใหม่ซะเอง เป็นต้น
2. เลือกภาษาที่ต้องการเรียนรู้
ภาษาที่ใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ มีมากมาย แล้วเราจะเลือกภาษาไหนดี? คำตอบง่ายนิดเดียวค่ะ ถามตัวเองว่าจะเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านใด และค้นหาคำตอบว่าซอฟต์แวร์นั้น ๆ ถูกสร้างมาจากภาษาอะไร? อย่างตัวเราเองเลือกศึกษาภาษา Java เป็นภาษาแรก เพราะรู้ว่าภาษา Java สามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้ (โดยส่วนตัวหลงใหลในหุ่นยนต์มาก)
หลังจากเรียนรู้ภาษาใดภาษาหนึ่งอย่างทะลุปุโปร่งแล้ว การขยับขยายไปร่ำเรียนภาษาอื่น ๆ ก็จะง่ายมากขึ้น สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องรู้จริงในตัวภาษาที่เลือกที่จะเรียนรู้ “การเก่งภาษาใดภาษาหนึ่ง ย่อมดีกว่ารู้จักทุกภาษา แต่ไม่เก่งภาษาใดเลยซักภาษาเดียว”
3. ฝึกฝนอย่างจริงจัง
หลังจากเลือกภาษาที่ต้องการศึกษาได้แล้ว ก็ต้องเอาจริงเอาจังต่อการฝึกฝน และพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมจนเกิดความเชี่ยวชาญ ลำพังแค่การอ่านไม่ทำให้เราเก่งขึ้นมาได้ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีต้องฝึกฝนด้วยการลงมือทำ และการลงมือทำจะทำให้เราเข้าใจอะไรอย่างลึกซึ้งมากขึ้น
4. สมัครงานในตำแหน่งที่สนใจ
เมื่อมีฝีมือในระดับที่จะออกไปเผชิญโลกภายนอกได้แล้ว ก็หาข้อมูลเพื่อสมัครงานในตำแหน่งที่ต้องการ การเข้าไปร่วมงานกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์เก่ง ๆ จะทำให้เราเก่งขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้น จงพัฒนาตัวเองให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่ต้องการ และยื่นใบสมัครซะ
5. พัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
ในโลกของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ จะมีสิ่งใหม่ๆ ให้เราได้เรียนรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ภาษาใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่ และทำให้วิธีพัฒนาซอฟต์แวร์ของเราเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น ชาญฉลาดมากขึ้น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีจึงต้องก้าวทันเทคโนโลยีเสมอ
หรือถ้าเหนื่อยที่จะตามเทคโนโลยีแล้วล่ะก็ จงก้าวให้เร็วกว่ามัน หรือก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำเอง ก็ได้เช่นกันค่ะ 🙂