Java#18 เมธอดคืออะไร?

เมธอด (method) คือความสามารถของออบเจ็กต์ ที่เราออกแบบเอาไว้ตั้งแต่ตอนเขียนโค้ดเพื่อสร้างคลาสขึ้นมา หลังจากที่เราสร้างออบเจ็กต์จากคลาสขึ้นมาแล้ว เราจะสามารถเรียกใช้เมธอดต่าง ๆ ที่เขียนเอาไว้ได้

 

ภาพที่ 1 เมธอดต่าง ๆ

 

ฟังก์ชั่น (function) VS เมธอด (method)

คำศัพท์ที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ คือ คำว่า function และคำว่า method สองคำนี้แตกต่างกันอย่างไร ? ที่แน่ ๆ คือ คำว่า function นั้น เกิดขึ้นมาก่อนคำว่า method อย่างแน่นอน

ความจริงแล้ว ทั้ง function และ method คือ ความสามารถ หรือสิ่งที่โปรแกรมทำได้ แต่เราจะเรียกมันว่า function เมื่อเขียนเอาไว้นอกคลาส (class) และเรียกว่า method เมื่อเขียนเอาไว้ในคลาส

นอกจากนี้ก็ยังมีคำศัพท์คำอื่นที่มีความหมายเดียวกัน คือ การดำเนินการ (operation) และ พฤติกรรม (behavior)

ในช่วงเริ่มต้น เราจะได้เห็นหน้าตาเมธอด 4 แบบ หลัก ๆ คือ

1. เมธอด ไม่รับค่า และ ไม่คืนค่า

2. เมธอด ไม่รับค่า แต่ คืนค่า

3. เมธอด รับค่า และ คืนค่า

4. เมธอด รับค่า แต่ ไม่คืนค่า

เมื่อเราเรียกใช้เมธอด เราล้วนต้องการให้เกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ประมวลผล แสดงผล หรือเชื่อมต่อฐานข้อมูล เป็นต้น

บางครั้งเราก็ต้องการอะไรบางอย่างตอบกลับมาจากเมธอด เช่น ผลลัพธ์การประมวลผล ผลลัพธ์แสดงผลที่ output หรือ ผลลัพธ์การเชื่อมต่อฐานข้อมูล เป็นต้น

หากเปรียบเทียบการเรียกใช้เมธอด เหมือนกับการที่เราขอให้เพื่อนช่วยงานอะไรบางอย่าง บางครั้งเราก็ต้องการให้เพื่อนตอบกลับเรามาว่า ที่ขอให้ช่วยให้ทำนั้น ทำเสร็จแล้วหรือไม่ ผลลัพธ์เป็นยังไง หรือทำยังไม่เสร็จ หรือติดปัญหาอะไรหรือไม่ เป็นต้น

ในตอนต่อไป เราจะเริ่มเขียนโค้ดเพื่อทำความเข้าใจเมธอดต่าง ๆ กันค่ะ